สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จัดฝึกอบรมเรื่องระบบประกันคุณภาพอาหาร"ขอ เลข(อย.)/ มผช.ยากจริงหรือ !!!" ในวันศุกร์ที่ 02 กรกฎาคม 2553 ณ ห้อง EA 201 อาคารพนม สมิตานนท์ สนใจติดต่อได้ที่ คุณรำไพ ศุภวงค์ โทรศัพท์ 053-878115-6 โทรสาร 053-878125
นับวันมาตรฐานสินค้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เพราะการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันดูเหมือนจะละทิ้งคำว่า “มาตรฐาน” ไปไม่ได้ มาตรฐานจึงเป็นเกณฑ์ที่ต้องมีเพื่อใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องสังเกตดูว่า มีอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ค้าขายปัจจุบันมีการแข่งขันมาก ผู้ประกอบการมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น มาตรฐานผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งบอกถึงตัวผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่ผู้บริโภคให้ความมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ
การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารเป็นกลไกสำคัญสำหรับภาคการผลิต ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาด้านการผลิตให้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค การผลิตอาหารให้มีคุณภาพที่ดีสม่ำเสมอ และส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป ปัจจุบันมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ ได้แก่ มาตรฐานอาหารและยาโดยการขออนุญาต “เลข อย. หรือ เลขสาระบบอาหาร” ซึ่งดูแลและควบคุมโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ซึ่งเป็นมาตรฐานเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือระดับพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้อาหารที่ผลิตขึ้นในชุมชนมีคุณภาพและความปลอดภัย จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ระบบประกันคุณอาหาร ; “ขอเลข อย. / มผช. ยากจริงหรือ !!!” ขึ้นมา เพื่อเป็นการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องซึ่งจะเป็นกลไกในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่นต่อไป อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายบุคลากรในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นให้สูงขึ้น