หมอกควัน (Smog) หมายถึงสภาพอากาศที่ประกอบไปด้วยหมอก (Fog) และควัน (Smoke) ผสมปนกันอยู่ (Smoke + Fog = Smog) สามารถมองเห็นได้จากทัศนวิสัยที่เลวลงและกลิ่นของควันไฟจากอากาศ ซึ่งจัดเป็นมลภาวะทางอากาศประเภทหนึ่ง โดยทั่วไปส่วนของหมอก จะเกิดจากอุณหภูมิอากาศลดต่ำลงจนไอน้ำในอากาศเกิดการควบแน่นเป็นละอองน้ำ โดยจะเห็นเป็นควันสีขาวไม่มีกลิ่นซึ่งมักจะเกิดขึ้นตามปกติในช่วงเช้าของฤดูหนาว (อ่านต่อบทความแบบ PDF คลิ๊กที่นี้ )
แต่ควันนั้นจะเกิดจากการเผาไหม้ในลักษณะต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะเห็นเป็นสีเทาหรือดำ และมีกลิ่นไหม้ต่างๆกันตามชนิดของเชื้อเพลิง ควันจึงประกอบด้วยก๊าซชนิดต่างๆจากการเผาไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นสำคัญ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ควันยังประกอบด้วยเขม่า ซึ่งเป็นฝุ่นละอองหรืออนุภาคขนาดเล็กมากต่างๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10)นั้น สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของคนและสัตว์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง
แม้ว่าปีนี้จะมีฝนตกประปรายทั่วภาคเหนือตอนบนเป็นระยะๆ ก็ตาม (นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนมีนาคม) จนหลายคนคาดการณ์ว่า ปีนี้หมอกควันในภาคเหนือตอนบนจะไม่รุนแรงเข้าขั้นวิกฤติเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา แต่พอฝนทิ้งช่วงได้ไม่นาน จังหวัดเชียงใหม่ก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์หมอกควันในขั้นวิกฤติ (นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา)
ทั้งนี้สามารถรับรู้ได้โดยตรงจากทัศนวิสัยทั่วไปที่เลวลงเป็นลำดับ เช่น ผู้โดยสารเครื่องบินมาลงสนามบินเชียงใหม่ไม่สามารถมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ได้ จนกว่าเครื่องบินจะลดเพดานบินลงมาใกล้พื้นดิน หรือไม่อาจมองเห็นดอยสุเทพจากในตัวเมืองเชียงใหม่ได้เช่นปกติ เป็นต้น และจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่า ค่า PM10 สูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัย (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)เช่นเดียวกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนทั้ง 9 จังหวัด
ปัญหานี้ทั้งทางจังหวัดเชียงใหม่ และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่างก็เตรียมการรับมือไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาได้ทั้งนี้เพราะปัญหาหมอกควันแก้ยากกว่าที่คิดด้วยสาเหตุดังนี้
ประการแรก หมอกควันจากจังหวัดข้างเคียง เป็นที่ทราบกันดีจากสถิติหมอกควันของทุกๆ ปีว่า จังหวัดที่เกิดหมอกควันสูงในอันดับต้นๆ คือ จังหวัดที่อยู่รายล้อมจังหวัดเชียงใหม่ อันได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอนทางด้านตะวันตก จังหวัดเชียงราย ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำปางทางตะวันออกและจังหวัดลำพูนทางด้านใต้ และในกรณีของจังหวัดลำพูนนั้น แม้สถิติหมอกควันอาจจะไม่สูงเท่าจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน แต่จังหวัดลำพูนนั้นมีที่ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบเดียวกันกับจังหวัดเชียงใหม่ หมอกควันในจังหวัดลำพูน จึงแผ่ขยายเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่มีมวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง)แผ่เข้ามาปกคลุมตอนบนของประเทศไทย ดังนั้น การป้องกันการเผาในที่โล่งแจ้งเฉพาะพื้นที่ภายในจังหวัดเชียงใหม่จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันสถานการณ์หมอกควันที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด
ประการที่สอง ยังไม่อาจหยุดยั้งการเผาของเกษตรกรรอบนอก ปัญหานี้ทุกฝ่ายทราบกันดีอยู่แล้วว่า ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะการเผาตอซังข้าวโพดในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีการเผาสองถึงสามครั้งในแต่ละรอบของการปลูก เริ่มจากการเผาเปิดพื้นที่ปลูก เผาตอซังหลังเก็บเกี่ยวฝัก และเผาซังข้าวโพดหลังจากกะเทาะเมล็ดแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นทุกปีจากการส่งเสริมของภาคธุรกิจอาหารสัตว์ของบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ การเผาป่าเผาหญ้าก็ยังคงมีอยู่เสมอๆในพื้นที่ห่างไกลรอบนอก ด้วยเหล่าคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้เพราะคนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากการเผาโดยตรง แต่พวกเขาแทบจะไม่ได้รับอะไรตอบแทนโดยตรงเลยจากการงดการเผา อีกทั้งคนเหล่านี้แม้มีจำนวนน้อยแต่กลับสร้างหมอกควันได้มาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะชักจูงให้คนเหล่านี้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและยอมให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
ประการที่สาม การบริหารการเผายังทำไม่ได้อย่างจริงจัง จากความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่กันดารและห่างไกลที่ยากจะขจัดการเผาได้อย่างเด็ดขาด ทางกรมควบคุมมลพิษ จึงคิดวิธีแก้ปัญหา โดยการยอมให้มีการเผาตามความจำเป็น หรือการบริหารการเผานั่นเอง ด้วยการกำหนดวัน เวลา พื้นที่ และปริมาณการเผาตามโควตา เพื่อให้สามารถควบคุมหมอกควันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยได้ ซึ่งแม้วิธีการนี้จะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่วิธีนี้ก็น่าจะช่วยลดปัญหาต่างๆ ในเบื้องต้นลงได้มาก ทั้งปัญหาด้านกายภาพและปัญหาด้านสังคม แต่น่าเสียดายที่ในปีนี้ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ วิธีนี้จึงยังไม่เห็นผลอย่างจริงจัง
ประการสุดท้าย คนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่นทั้งในเขตตัวจังหวัด ตัวอำเภอ และในเขตเทศบาล จะมีการรณรงค์ให้งดการเผาในช่วง 80 วันอันตราย (ปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนเมษายน) อย่างเข้มงวด และประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี เพราะต่างเข้าใจดีว่า ประโยชน์จากการเผาขยะมูลฝอยในชุมชนไม่คุ้มกับผลกระทบจากหมอกควันที่เกิดขึ้น อีกทั้งชาวเชียงใหม่เคยได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัสมาแล้วในปี พ.ศ. 2550 เพราะในปีนั้นมีการตรวจวัดค่า PM10 กลางเมืองเชียงใหม่ได้สูงสุดถึง 383 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นับตั้งแต่นั้นมาการรณรงค์ให้งดการเผาในเขตชุมชนทั้งในระดับเทศบาลและอบต.นับว่าได้ผลเป็นอย่างดี และยังไม่เคยปรากฏปัญหาหมอกควันรุนแรงในขั้นวิกฤติได้เท่าปีนั้นอีก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถทำให้ปราศจากปัญหาหมอกควันลงได้อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับปีนี้ แม้สถานการณ์หลายอย่างจะเป็นใจจนสามารถผ่านช่วง 80 วันอันตรายมาได้กว่าครึ่งทางแล้ว แต่สุดท้ายปัญหาหมอกควันก็ยังยกระดับขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติอีกจนได้ แม้ประชาชนชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 80-90) ไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นก็ตาม
จังหวัดเชียงใหม่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองที่น่าอยู่ติดอันดับต้นๆ ของโลก อากาศดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เมืองเชียงใหม่น่าอยู่ แต่ถ้าใครได้มาเชียงใหม่ ในช่วงที่มีวิกฤติหมอกควัน คงไม่มีใครคิดเช่นนั้นอย่างแน่นอน เพราะหมอกควันไม่เพียงแค่ทำลายทัศนียภาพและบรรยากาศของการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่กำลังทำลายสุขภาพของทุกคนที่ต้องเผชิญโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ปัญหาหมอกควันกำลังบั่นทอนความน่าอยู่ของเมืองเชียงใหม่ลงไปอย่างน่าเสียดาย (ขนาดคนที่เคยอยู่เชียงใหม่มานานนับสิบปียังอยากย้ายหนีไปที่อื่นเลย) แม้ปัญหาจะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ (ราว80-100 วัน) แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำแทบทุกปี ปัญหานี้ทำให้ความน่าอยู่ของเมืองเชียงใหม่หดหายไปเป็นอันมาก ดังนั้น แม้ปัญหานี้จะแก้ไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด แต่ความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้จะต้องมีต่อไปในทุกระดับ และที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีก็เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิดน่าจะช่วยทำอะไรให้ชาวเชียงใหม่ได้มากกว่านี้
ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ที่มา :ภาพและเนื้อหาจาก (แนวหน้า ) 30 มี.ค 2556