“ภาคเหนือ” โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอันประกอบด้วย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และแม่ฮ่องสอน จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อมลภาวะทางอากาศสูงที่สุดของประเทศ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะอยู่ท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อน อันเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายเทของอากาศ ประกอบกับมีภูมิอากาศที่แห้งแล้งยาวนานกว่าทุกๆ ภาคของประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน คาบเกี่ยวตั้งแต่ช่วงฤดูหนาว (พ.ย.-ก.พ.) ไปจนถึงช่วงฤดูร้อน(ก.พ.-เม.ย.) พื้นที่ส่วนนี้นอกจากจะมีเชื้อไฟจากชีวมวลของป่าไม้ผลัดใบปริมาณมาก มายมหาศาลแล้ว ยังมีเชื้อไฟจากเศษซากพืชทางการเกษตรอีกเป็นปริมาณมากด้วย พื้นที่ส่วนนี้ของประเทศจึงต้องเผชิญกับปัญหามลพิษจากหมอกควันในขั้นวิกฤติ อยู่เป็นประจำ (อ่านต่อบทความแบบ PDF คลิ๊กที่นี้ )
สำหรับปีนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ ก็ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้แล้ว กล่าวคือ ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดเห็นต่อการเตรียมการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าและ การเผาในที่โล่งแจ้ง ปี 2556 แล้วในหลายจังหวัด ตั้งแต่ปลายปี 2555 ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก จึงน่าเชื่อได้ว่า ปีนี้จะสามารถรับมือกับสถานการณ์หมอกควันได้ดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษยังได้ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน ภาคเหนือตอนบน ปี 2556 ให้ทุกฝ่ายร่วมพิจารณาด้วย มีทั้งมาตรการห้ามเผาโดยเด็ดขาดในช่วงวิกฤติ มาตรการจัดระเบียบการเผา มาตรการป้องกันไฟป่า มาตรการสนับสนุนหมู่บ้านปลอดการเผา มาตรการส่งเสริมภาคเอกชนและภาคีร่วมป้องกันและแก้ไขมลพิษจากหมอกควัน มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์สู่กลุ่มเป้าหมาย มาตรการแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน มาตรการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและมาตรการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง แม้มาตรการต่างๆ จะยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย เพราะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้างเรื่องรายละเอียดในทางปฏิบัติของบางประเด็น แต่เชื่อว่า หากมาตรการดังกล่าวเหล่านี้ได้รับการดูแลปฏิบัติจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. และเทศบาลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหากหน่วยงานเหล่านี้ช่วยกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่งได้ ปัญหามลภาวะทางอากาศในเขตพื้นที่ภาคเหนือจะไม่รุนแรงเข้าขั้นวิกฤติเหมือนใน ปี 2550 อย่างแน่นอน
แต่อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนเมษายน รวมระยะเวลาประมาณ 80 วันนี้ นับเป็นช่วงอันตรายอย่างยิ่งต่อการเกิดหมอกควันจากการเผาไหม้ เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งที่สุด อีกทั้งมีเชื้อไฟสะสมไว้เป็นปริมาณมาก ทั้งชีวมวลจากป่าไม้และเศษซากพืชทางการเกษตร (หากไม่มีการทยอยเผามาก่อน) ซึ่งถ้าหากมีไฟป่าหรือมีการเผาเศษซากพืชทางการเกษตรพร้อมๆ กันในช่วงนี้ มลพิษทางอากาศจะรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติได้โดยง่าย ขณะนี้ได้ย่างเข้าสู่ช่วง 80 วัน อันตรายแล้ว แม้มีบางส่วนบางจังหวัดมีไฟป่าเกิดขึ้นและมีการเผาไร่นาทำให้คุณภาพอากาศต่ำ กว่าค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) อยู่บ้าง แต่สถานการณ์โดยรวมยังคงเป็นที่น่าพอใจ แต่ถึงกระนั้น ระยะเวลาที่เหลืออีกราว 2 เดือน ยังคงต้องเฝ้าดูแลอย่าง ใกล้ชิดต่อไป
แม้กรมอุตุนิยมวิทยา จะเคยคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้จะเป็นปีของเอลนีโญที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความแห้งแล้งมากกว่าปกติ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่จะมีผลทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศในภาคเหนืออย่างรุนแรง เข้าขั้นวิกฤติได้ แต่ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีว่า สถานการณ์จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจากการเฝ้าติดตามอุณหภูมิของน้ำทะเลรอบๆ ประเทศไทย ที่ระดับความลึก 0-300 เมตร พบว่า มีความแตกต่างจากค่าปกติน้อยมาก (+ 0.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น) ซึ่งทำให้เป็นที่เบาใจได้ว่า เอลนีโญจะไม่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งนี้ และที่สำคัญยังปรากฏว่ามีฝนตกประปรายในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงปลายเดือน มกราคมด้วย ซึ่งช่วยลดปริมาณหมอกควันที่เริ่มมีบ้างแล้วลงไปได้เป็นอันมาก แต่ถึงกระนั้น มลพิษจากหมอกควันในภาคเหนือก็ยังไม่อาจวางใจได้ เพราะการเผาป่าและการเผาไร่นายังคงเป็นวิถีชีวิตของคนบางส่วนที่ยังไม่อาจ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้ในขณะนี้ ดังนั้น หน่วยงานของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเข้มงวดกวดขันกันต่อไป จนกว่าจะพ้น 80 วันอันตรายนี้ไปให้ได้
ในช่วงหลายปีมานี้ มีข้อที่น่าห่วงใยอีกประการหนึ่งคือ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ไปตั้งฐานการผลิตอยู่หลายแห่งในภาคเหนือ จึงมีภาคเอกชนเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น เพราะข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญของอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จากแรงจูงใจด้านราคาและความแน่นอนของรายได้ ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปอย่างไม่จำกัด ตั้งแต่พื้นที่ราบลุ่มไปจนถึงบนยอดดอย การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เหล่านี้ นับเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการเผา เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนและการคมนาคม โดยเริ่มตั้งแต่การเผาป่าหรือพื้นที่รกร้างเพื่อเปิดพื้นที่เพาะปลูก การเผาต้นตอซังหลังการเก็บเกี่ยว และยังต้องเผาซังข้าวโพดหลังการสีหรือกะเทาะเมล็ดออกจากฝักแล้วด้วย เรื่องนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ แต่ดูเหมือนทางจังหวัดและหน่วยงานในท้องถิ่น รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษก็ยังหาทางออกไม่ได้ สำหรับทางออกของปัญหาดังกล่าวเท่าที่พอเป็นไปได้ในปัจจุบันคือ การขอความร่วมมือและร่วมรับผิดชอบจากกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ ให้ช่วยหามาตรการควบคุมเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดส่งโรงงานของตน เช่น การรับซื้อต้นข้าวโพดและซังข้าวโพดไปผลิตพลังงานหรือทำปุ๋ยหมัก ซื้อข้าวโพดในราคาพิเศษหรือลดราคาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร หากเกษตรกรสามารถลดการเผาลงได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมาตรการทางกฎหมายคงไม่อาจนำมาใช้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ก่อมลพิษโดยตรง แต่ความตระหนักในกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องให้ความร่วมมือและร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามสมควร
ปีนี้พื้นที่ภาคเหนือตอนบนอาจผ่านพ้น 80 วันอันตรายไปได้ โดยไม่ปรากฏมลพิษจากหมอกควันถึงขั้นวิกฤติเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะสถานการณ์ต่างๆ เป็นใจ รวมทั้งหน่วยงานของแต่ละท้องถิ่นแต่ละจังหวัดต่างตื่นตัว เพราะได้รับการกระตุ้นจากกรม ควบคุมมลพิษให้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่สำหรับปีต่อๆ ไปก็จะต้องไม่ปล่อยปละละเลยด้วย โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องกระทำกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ที่มา :ภาพและเนื้อหาจาก (แนวหน้า ) 7 ก.พ 2556