คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
FACULTY OF ENGINEERING AND AGRO-INDUSTRY, MAEJO UNIVERSITY

มหาอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 ทำให้ตลอดปี พ.ศ.2555 คนในสังคมจึงพูดกันแต่เรื่อง น้ำท่วมๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ปรากฏสถานการณ์ใดๆ ที่ส่อแววให้เห็นว่า จะเกิดน้ำท่วมหนักหนาสาหัสเหมือนปีที่ผ่านมา ทั้งปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ล้วนมีปริมาณต่ำกว่าปีที่แล้วมาทั้งสิ้น ซ้ำช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา อ่านต่อบทความ คลิ๊กที่นี้ PDF

 

 

         มหาอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 ทำให้ตลอดปี พ.ศ.2555 คนในสังคมจึงพูดกันแต่เรื่อง น้ำท่วมๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ปรากฏสถานการณ์ใดๆ ที่ส่อแววให้เห็นว่า จะเกิดน้ำท่วมหนักหนาสาหัสเหมือนปีที่ผ่านมา ทั้งปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ล้วนมีปริมาณต่ำกว่าปีที่แล้วมาทั้งสิ้น ซ้ำช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา ยังปรากฏฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่อีกด้วย ส่วนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเหตุการณ์ปกติของทุกๆ ปีอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม ทั้ง จ.แพร่ พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย รวมไปถึง จ.นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา แต่สิ่งที่ น่าวิตกยิ่งกว่าสำหรับอนาคตก็คือ การเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดและไม่ควรเกิด ซึ่งกรณีนี้จะสร้างความเสียหายได้มากยิ่งกว่าการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ ท่วมซ้ำซากเป็นอันมาก
          หากย้อนเวลาไปสัก 30-40 ปี พื้นที่ท้ายน้ำตามปากแม่น้ำสายหลัก ทั้งเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง ล้วนเกิดน้ำท่วมเป็นประจำแทบทุกปีจนถือเป็นเรื่องปกติ ผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้ก็หาได้ทุกข์ร้อนอะไรมากมายนัก จะทุกข์มากก็ตรงที่สวนล่มหรือนาล่ม ในกรณีที่น้ำมาเร็วหรือน้ำมามากกว่าทุกๆ ปี ส่วนบ้านเรือนก็ไม่เสียหาย เพราะยกพื้นสูงปล่อยให้น้ำไหลผ่านใต้ถุนบ้านไป ข้าวของสำคัญก็ขนย้ายขึ้นไว้บนบ้าน ถนนถูกน้ำท่วมเดินทางไปไหนไม่ได้ก็อาศัยเรือพายไป ความเป็นอยู่อื่นๆ ก็ปรับตัวกันได้ตามสภาพ แต่สำหรับพื้นที่ดอน ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นที่ดอนจึงไม่มีน้ำท่วมเพราะน้ำท่วมไม่ถึง ปัญหาน้ำท่วมในอดีตจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในยุคนั้น
          แต่สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ปริมาณฝนและปริมาณน้ำหลากจะไม่ได้มากกว่าในอดีตมากมายนัก แต่สถานการณ์น้ำท่วมกลับสร้างความเสียหายได้มากกว่าอดีตเป็นอันมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะน้ำมันท่วมสูงและเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และน้ำมันยังหลากมาท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อนอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงบางประการของแต่ละกรณีได้ ดังนี้
          กรณีน้ำท่วมสูงกว่าที่ควรจะเป็น ความเสียหายจากกรณีนี้จะไม่ผันแปรเป็นสัดส่วนโดยตรงกับความสูงของน้ำ กล่าวคือ เมื่อน้ำท่วมสูงขึ้น 1 เมตร 2 เมตร 3 เมตร ความเสียหายจะไม่สูงขึ้นเป็น 1 เท่า 2 เท่า 3 เท่า ตามลำดับ แต่ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมสูงขึ้นแต่ละเมตรนั้น เพิ่มขึ้นเป็นสิบเป็นร้อยเท่า เพราะแค่พื้นที่ถูกน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นก็จะมากกว่าสิบเท่าแล้วเมื่อน้ำท่วม สูงขึ้นแต่ละเมตร ในบางครั้งน้ำท่วมสูงขึ้นจากเดิมเพียง 5 ซม. 10 ซม. ก็มีผลต่อความเสียหายที่ต่างกันเป็นอันมากแล้ว เพราะน้ำอาจล้นเข้าบ้านหรือไม่เข้าบ้านก็ได้ ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ล้วนสร้างความเสียหายต่อส่วนรวมได้มากมายเป็นอย่างยิ่ง เช่น การปิดกั้นเส้นทางน้ำไหลผ่าน การสร้างพนังกั้นน้ำท่วม และการยกระดับถนนหนีน้ำ เป็นต้น
          กรณีน้ำท่วมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ความเสียหายกรณีนี้เกิดจากผู้ประสบอุทกภัยไม่มีเวลามากพอต่อการแก้ไขปัญหา แม้จะเตรียมการไว้บ้างแล้วก็ตาม โดยปกติเวลาเกิดน้ำท่วมตามธรรมชาติ ระดับน้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเมตรๆ ภายในวันเดียว ยกเว้นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความลาดชันสูง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในลักษณะของน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กลางน้ำและท้ายน้ำนั้น วันหนึ่งๆ ระดับน้ำอาจสูงขึ้นได้เพียงแค่ 30-40 ซม.เท่านั้น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำ อย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ ทำให้ผู้ประสบภัยมีเวลามากพอที่จะหาทางป้องกัน หลีกเลี่ยง อพยพ หรือย้ายของหนีน้ำ ความเสียหายก็จะเกิดได้ไม่มาก การสร้างพนังกั้นน้ำโดยไม่จำเป็น รวมทั้งการสร้างพนังอย่างไม่เข้าใจเรื่องแรงดันของน้ำ และลักษณะของชั้นดินตรงบริเวณที่ก่อสร้าง เป็นเหตุทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นและเข้าท่วมได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดน้ำล้น รอด หรือพนังแตก (เอาไม่อยู่) กรณีของน้ำท่วมตัวเมืองนครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท เมื่อปีที่แล้ว และล่าสุดที่ตัวเมืองสุโขทัย ระดับน้ำสูงขึ้นเป็นเมตรได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง จึงสร้างความเสียหายได้อย่างมากมายมหาศาล ดังนั้น สู้ปล่อยให้น้ำท่วมตามธรรมชาติเสียแต่แรกจะดีกว่า เพราะความเสียหายคงจะเกิดได้ไม่มากเท่าที่เกิดขึ้นแล้วนั้น เนื่องจากน้ำจะท่วมช้ากว่า แต่น้ำจะผ่านพ้นได้ไปเร็วกว่า
          กรณีน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อน ความเสียหายในกรณีนี้น่าวิตกมากที่สุด เพราะความเสียหายจะเกิดขึ้นได้มากกว่าพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมเป็นประจำ เนื่องจากผู้ประสบภัยไม่มีประสบการณ์มาก่อนทำให้เกิดความประมาท ไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อจะเผชิญกับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า จึงขาดทั้งเครื่องและวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีพอในการรับมือกับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีน้ำท่วมดอนเมืองคือ กรณีตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด พื้นที่นี้อาจเป็นพื้นที่เดียวของกรุงเทพฯที่น้ำท่วมไม่ถึงในปี พ.ศ.2485 แต่สำหรับปี พ.ศ.2554 กลับไม่พ้นถูกน้ำท่วม ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำปีนี้ ไม่ได้มากไปกว่าปีนั้นเลย ขนาดหน่วยงานของทางราชการก็ยังผิดพลาดที่เปิดพื้นที่ดอนเมืองให้ประชาชนเอา รถยนต์ไปจอดหนีน้ำ แต่กลับกลายเป็นการจอดรถรอให้น้ำท่วม เป็นเพราะคาดไม่ถึงนั่นเองจึงเอารถหนีน้ำออกมาไม่ทัน แม้แต่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เองก็ยังต้องอพยพหนีน้ำกันอย่างทุลักทุเล
          ถึงตรงนี้จึงมีคำถามว่า ทำไมน้ำจึงมาท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วม คำตอบที่ตรงและชัดเจนที่สุดคือ เพราะน้ำไม่สามารถไปท่วมในพื้นที่ที่มันเคยท่วม ด้วยพื้นที่เหล่านั้นถูกถมดินเพื่อสร้างบ้าน สร้างโรงงาน และสร้างถนนหนทาง จนไม่มีพื้นที่รองรับน้ำที่เคยไหลมาตามปกติในแต่ละปี หรือไม่ก็เป็นเพราะการสร้างสิ่งกีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำ จนทำให้น้ำไม่สามารถไหลไปยังที่ที่มันเคยไปได้ น้ำจึงต้องไหลมาท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมและไม่ควรท่วม (ที่ดอน) นั่นเอง
          ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า เวลาจะมีการสร้างบ้านเรือนหรืออาคารใดๆ สิ่งแรกที่มักจะทำกันก่อนเป็นอันดับแรกก็คือ ถมที่หนีน้ำ โดยมากก็จะถมที่ดินให้เท่าหรือสูงกว่าระดับถนนเสมอ ครั้นสองข้างทางเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือน เมื่อฝนตกน้ำก็ไหลลงไปท่วมถนน ครั้นพอมีการสร้างถนนใหม่ก็มักจะยกระดับถนนให้สูงขึ้นไปอีก เวลาฝนตกน้ำบนถนนก็ไหลย้อนเข้าสู่บริเวณบ้านและอาคาร สลับกันไปสลับกันมาอยู่เช่นนี้ กลายเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ แม้แต่อาคารสำนักงานของทางราชการเองก็มีการกระทำไม่ต่างกับของชาวบ้าน และบางครั้งยังรุกล้ำแหล่งพักน้ำในธรรมชาติอีกด้วย สถานการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การถมที่หนีน้ำไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดและยั่งยืน แต่เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบกวาดขยะซุกไว้ใต้ผืนพรมเท่านั้นเอง
          ในอดีตกว่า 20 ปีมาแล้ว เคยมีผู้เสนอให้มีกฎหมายควบคุมการถมที่ดิน แต่ล่วงเลยมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดให้ความสนใจร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา บังคับใช้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี วันนี้ก็ยังนับว่าไม่สายเกินไปที่จะร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาบังคับใช้ เพราะยังมีพื้นที่อีกมากมายที่น้ำยังท่วมไม่ถึงในวันนี้ แต่กำลังรอให้น้ำท่วมในวันหน้า ตราบใดที่ยังมีการถมที่ดินกันอย่างไม่หยุดยั้งเช่นทุกวันนี้
          เพราะเห็นกันชัดๆ แล้วว่า ถมที่หนีน้ำ ยิ่งถม ก็ยิ่งท่วม.
         

 

ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ที่มา :ภาพและเนื้อหาจาก --มติชน ฉบับวันที่ 27 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--

ปรับปรุงข้อมูล : 1/1/2557 0:00:00     ที่มา : คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 8317

กลุ่มข่าวสาร : บทความน่าสนใจ

ข่าวล่าสุด

ประกาศรับสมัครทุนการศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ประจำปี 2567 จำนวน 41 ทุน ๆ ละ 6,000 บาท
ประกาศรับสมัครทุนการศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ประจำปี 2567 จำนวน 41 ทุน ๆ ละ 6,000 บาทคุณสมบัติ1. เป็นนักศึกษาของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ชั้นปีที่ 2-42. ไม่ถูกพักการศึกษา ไม่ถูกลงทางวินัย และไม่ได้รับทุนการศึกษาอื่นใด ยกเว้น กยศ.3. มีผลการเรียนเฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 2.00การรับสมัครเปิดรับสมัครตั้งแต่วันประกาศถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยผู้สมัครสแกน QR Code กรอกรายละเอียดและอัพโหลดเอกสารแนบ (บัตรนักศึกษาและสำเนาผลการเรียน) สอบถามเพิ่มเติมงานกิจการนักศึกษา สำนักงานคณบดี ชั้น 1 อาคารเรียนรวมสาขาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
20 กรกฎาคม 2567     |      13
ครงการนักวิจัยพบแหล่งทุนภายนอก โดยครั้งนี้ จัดในหัวข้อเรื่อง "การขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA"
งานบริการวิชาการและวิจัย คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรขอเชิญชวนบุคลากรทุกท่าน เข้าร่วมโครงการนักวิจัยพบแหล่งทุนภายนอกโดยครั้งนี้ จัดในหัวข้อเรื่อง "การขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA"วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00-12.00 น.ผ่านระบบ microsoft Teamกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ปฏิรูปผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและอาหารhttps://www.ftaoae.com/index
20 กรกฎาคม 2567     |      10