คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
FACULTY OF ENGINEERING AND AGRO-INDUSTRY, MAEJO UNIVERSITY

ตลอดปี พ.ศ. 2555 ผู้คนในสังคมพูดกันแต่เรื่อง น้ำท่วมๆ ทั้งๆที่ยังไม่ปรากฏสถานการณ์ใดๆที่ส่อแววให้เห็นว่า จะเกิดน้ำท่วมหนักหนาสาหัสเหมือนมหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา เพราะทั้งปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางล้วนมีปริมาณต่ำกว่าปีที่แล้วมาทั้งสิ้น อ่านต่อบทความ คลิ๊กที่นี้ PDF

 

   ตลอดปี พ.ศ. 2555 ผู้คนในสังคมพูดกันแต่เรื่อง น้ำท่วมๆ ทั้งๆที่ยังไม่ปรากฏสถานการณ์ใดๆที่ส่อแววให้เห็นว่า จะเกิดน้ำท่วมหนักหนาสาหัสเหมือนมหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา เพราะทั้งปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางล้วนมีปริมาณต่ำกว่าปีที่แล้วมาทั้งสิ้น ซ้ำช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่ผ่านมายังปรากฏฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่อีกด้วย และด้วยเหตุนี้ทำให้มีนักการเมืองอวดรู้และนักวิชาการอวดเก่งออกมาให้ข่าวรับรองว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปีที่ผ่านมา ด้วยการยกตัวเลขปริมาณน้ำปีนี้ว่าน้อยกว่าปีที่แล้วมาเป็นสิบๆเท่า ซ้ำยังมั่นใจในการบริหารจัดการน้ำถึงขนาดกล่าวว่า จะต้องมีพายุเข้ามาเป็นสิบลูกจึงจะสามารถทำให้เกิดน้ำท่วมได้เหมือนปีที่แล้ว

แม้โดยพื้นฐานด้านความเชื่อถือต่อคำพูดของนักการเมืองทั่วๆไปก็ต่ำอยู่แล้ว ยิ่งออกมาพูดในลักษณะนี้ ยิ่งน่าดูถูกในสติปัญญาและความสามารถยิ่งขึ้นไปอีก และที่สำคัญยังมีนักวิชาการบางท่านออกมาพูดชี้นำหรือพูดให้ท้ายก็ไม่ทราบได้อีก ความน่าเชื่อถือต่อนักวิชาการก็เลยพลอยตกต่ำลงไปด้วย เพราะสิ่งที่พูดสิ่งที่ยืนยันนั้นแทบไม่น่าเชื่อ ถือตามหลักวิชาการเลย จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า นักวิชาการที่ออกมาพูดเช่นนี้มีความรอบรู้เรื่องน้ำดีพอหรือไม่ โดยเฉพาะความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา (Meteorology) และด้านอุทกวิทยา (Hydrology) และที่สำคัญที่สุดคือ มีความเข้าใจต่อการบูรณาการของทั้งสองวิชานี้ด้วยหรือไม่ หรือเคยเรียนวิชาอุทกอุตุนิยมวิทยา (Hydrometeorology) มาบ้างหรือเปล่า

หากไม่เคยก็ขอเรียนให้ทราบว่า พวกท่านล้ำเส้นทางวิชาการมากเกินไปแล้ว

ถึงตรงนี้จึงอยากจะทำความเข้าใจตามหลักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องน้ำให้กับทุกคนที่พร้อมจะเปิดใจรับรู้ความเป็นจริง ดังนี้

ประการแรก ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า น้ำท่วมไม่ใช่อุทกภัยเสมอไป เพราะอุทกภัยคือ ภัยที่เกิดจากน้ำท่วม หากน้ำท่วมตามปกติในพื้นที่รับน้ำธรรมชาติย่อมไม่เกิดภัยใดๆ หากไม่มีใครบุกรุกเข้าไปทำกิจกรรมอะไรในที่นั้นๆ น้ำท่วมในพื้นที่ที่เคยท่วมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร (ถ้าไม่ท่วมนั่นล่ะแปลก)  แต่ถ้าหากน้ำท่วมสูงกว่าปกติหรือท่วมเร็วกว่าปกติ น้ำก็จะเข้าท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อนด้วย ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็จะเกิดขึ้น และนี่ก็คือ อุทกภัยจริงๆ

สำหรับพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมแล้วในปีนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมปกติของทุกๆปีอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำยม ทั้ง จ.แพร่ พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย รวมไปถึง จ.นครสวรรค์และพระนครศรีอยุธยา แต่สิ่งที่น่าวิตกยิ่งกว่าสำหรับอนาคตก็คือ การเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดและไม่ควรเกิด ซึ่งกรณีนี้จะสร้างความเสียหายได้มากยิ่งกว่าการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ท่วมซ้ำซากเป็นอันมาก กรณีนี้จะเห็นได้ว่า สิ่งที่นักการเมืองพูด บาง ครั้งก็เป็นแค่น้ำท่วมไม่ใช่อุทกภัยที่แท้จริง

ประการที่สอง ปริมาณน้ำไม่ใช่สาเหตุหลักของน้ำท่วมและอุทกภัยเสมอไป ปริมาณน้ำมากอาจไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมก็ได้ แต่ปริมาณน้ำน้อยก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการไหลของน้ำสูงสุด (Peak Flow) เป็นสำคัญ เช่น กรณีในปีที่แม้มีน้ำมาก แต่เป็นน้ำที่เกิดจากการกระจายของฝนที่สม่ำเสมอ (ทั้งเวลาและพื้นที่) อัตราการไหลสูงสุดของน้ำในลำน้ำก็อาจไม่สูงมากจนล้นฝั่งเป็นน้ำท่วมได้ เพียงแต่มีน้ำเต็มฝั่งตลอดเวลา ส่วนในปีที่แม้น้ำน้อย แต่ถ้าเป็นน้ำที่เกิดจากการกระจุกตัวของฝน อัตราการไหลของน้ำสูงสุดที่เกิดจากฝนตกแต่ละครั้งก็อาจสูงพอที่จะทำให้เกิดน้ำล้นฝั่งเป็นน้ำท่วมได้เป็นระยะๆ กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้พูดไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งด้านอุทกศาสตร์ สมควรกลับไปอ่านตำราอุทกศาสตร์ให้เข้าใจเสียก่อน

ประการที่สาม พายุหมุนเขตร้อน(ทั้งพายุดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น)ไม่เคยเข้าประเทศไทยได้มากถึง 10 ลูก แต่เคยเข้ามาได้สูงสุดในประวัติศาสตร์แค่ 9 ลูกในปี พ.ศ. 2507 และ 2508 ทำให้ประเทศไทยในสองปีดังกล่าวมีน้ำมาก แต่กลับเกิดปัญหาน้ำท่วมไม่รุนแรงเท่าปี พ.ศ. 2526 ที่มีพายุเข้าประเทศไทยได้ 5 ลูก และ พ.ศ. 2538 ที่มีพายุเข้าถึงประเทศไทยได้เพียงลูกเดียว

เช่นเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว ที่มีพายุเข้าถึงประเทศไทยเพียงแค่ลูกเดียวคือ พายุนกเต็น(Nock-ten) ส่วนพายุไหหม่า(Haima)และพายุไห่ถาง(Haitang) ก็แค่เฉียดๆเข้ามาเท่านั้น แต่กลับทำให้เกิดมหาอุทกภัยร้ายแรงเป็นประวัติศาสตร์ ของประเทศไทย และนี่คือข้อเท็จจริงที่บ่งบอกว่า นักการเมืองละนักวิชาการที่ให้ข่าวดังกล่าวเชื่อถือไม่ได้ หากในเดือนตุลาคมนี้ มีพายุเข้ามาได้สัก 2-3 ลูกติดๆกัน มหาอุทกภัยอย่างปีที่แล้วก็เกิดขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน และถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้ขึ้นจริงๆ เชื่อว่านักการเมืองและนักวิชาการที่ให้ข่าวก็คงหาทางแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆไปอีกอย่างไม่ต้องสงสัย เหมือนกรณีน้ำท่วมสุโขทัย สองรอบสามรอบนั่นเอง กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้พูดไม่ได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศมากมายนัก เห็นควรกลับไปอ่านตำราด้านอุตุนิยมวิทยา และศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลให้มากกว่านี้

เท่าที่ยกเหตุผลมาแสดงทั้งหมดนี้ไม่ได้มุ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน แต่อยากให้นักการเมืองที่ชอบอวดรู้และนักวิชาการหลายๆท่านที่ชอบอวดเก่งเพลาๆการให้ข่าวที่คลาดเคลื่อนจากหลักการทางวิชาการต่อประชาชน  เพราะจะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และต้องไม่ลืมว่า ประเทศนี้ยังมีนักวิชาการที่มีความรู้มีความเข้าใจอีกไม่น้อยที่เฝ้าดูอยู่ แต่เขาเหล่านั้นถูกนักการเมืองมองข้ามหัวไปเพราะไม่ยอมรับแนวทางที่ฉ้อฉลของการเมือง และส่วนหนึ่งก็ไม่อยากเปลืองตัวเสนอหน้า มาเป็นเครื่องมือให้นักการเมืองที่หาดีๆยาก แต่อย่างไรก็ดี พวกเขาเหล่านี้คงจะไม่ทอดทิ้งประชาชนและประเทศชาติ พวกเขาจึงคอยให้ความเห็นและคำชี้แนะดีๆ ที่นักการเมืองต้องคอยรับฟังด้วยความเคารพในหลักวิชาการ

ขณะนี้(ปลายเดือนกันยายน) เป็นที่น่าดีใจว่า ร่องฝนหรือร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยกำลังเคลื่อนตัวลงมาทางภาคกลางแล้ว ขณะที่พายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 16 ซึ่งควรเคลื่อนตัวมาทางเวียดนาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย กลับเคลื่อนตัวที่ขึ้นไปทางเหนือสู่คาบสมุทรเกาหลี ความเสี่ยงต่อฝนตกหนักและน้ำท่วมก็ลดลงทุกขณะ แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่อาจไว้วางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จนกว่าจะผ่านพ้นเดือนตุลาคมไปแล้ว เพราะจากข้อมูลตามสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา เดือนตุลาคม จัดเป็นช่วงเวลาที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าถึงประเทศไทยได้มากที่สุด ดังนั้น จึงต้องคอยติดตามเรื่องนี้ด้วยความไม่ประมาท

สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าไม่มีพายุเคลื่อนตัวเข้ามาในช่วงเดือนตุลาคมนี้ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือ ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อาจเก็บกักน้ำไว้ได้น้อยกว่าทุกๆปี ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับทำนาปรังในช่วงต้นปีหน้า ดังนั้นจึงต้องคอยติดตามว่า ฤดูเพาะปลูกปี พ.ศ. 2555-2556 นี้ จะต้องลดพื้นที่ทำนาปรังลงกี่ล้านไร่ และนักการเมืองอวดรู้กับนักวิชาการอวดเก่งจะแก้ตัวหรือโทษดินฟ้าอากาศอย่างไรอีก 

ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ที่มา :ภาพและเนื้อหาจาก แนวหน้า 24 กย. 2555

ปรับปรุงข้อมูล : 1/1/2557 0:00:00     ที่มา : คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 8279

กลุ่มข่าวสาร : บทความน่าสนใจ

ข่าวล่าสุด