คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
FACULTY OF ENGINEERING AND AGRO-INDUSTRY, MAEJO UNIVERSITY

      เครื่องหั่นย่อยขนาดเล็ก มหาวิทยาลัย.แม่โจ้ ช่วยลดปัญหาการเผากิ่งไม้ ใบไม้ แถมได้ปุ๋ยหมักใช้ฟรี รองศาสตราจารย์บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การเผากิ่งไม้และใบไม้ ตามชุมชนและบ้านเรือน เนื่องจากปัญหาควันไฟ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ มีปัญหามลพิษทางอากาศค่อนข้างมาก สาเหตุหนึ่งมาจากการเผากิ่งไม้และใบไม้ตามชุมชนและบ้านเรือน เนื่องจากประชาชนไม่สามารถจะจัดการกับกิ่งไม้และใบไม้ได้ ทำให้เจ้าของบ้านบางหลังก็นำเอากิ่งไม้ ใบไม้ ไปกองสุมหรือนำไปทิ้งเอาไว้ในบริเวณที่ดินว่างเปล่าของผู้อื่น

 

    ส่งผลให้เป็นที่อยู่ของสัตว์มีพิษและเชื้อโรคต่างๆ เจ้าของบ้านบ้างหลังที่ไม่มีที่ให้กองสุมหรือนำไปทิ้งในที่ดินว่างเปล่าของผู้อื่น ก็จะเผาทำลาย จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ดังที่ได้ประสบมา ดังนั้น ถ้ามีการหั่นย่อยกิ่งไม้และใบไม้แล้ว ก็จะทำให้พื้นที่ในการกองกิ่งไม้และใบไม้ลดลง นอกจากนี้ ยังสามารถนำกิ่งไม้และใบไม้ไปทำปุ๋ยหมักหรือเป็นวัสดุคลุมดินได้ แต่เครื่องหั่นย่อยที่มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างแพง ขนาดใหญ่ และใช้ต้นทุนสูง จึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในบ้านเรือน ส่วนเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายก็มีปัญหาขาดความแข็งแรง ทนทาน และความยุ่งยากในการซ่อมบำรุง เนื่องจากอะไหล่บางชนิดหายาก เช่น มอเตอร์ สวิตช์ และใบมีด เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปไม่มั่นใจในการนำเครื่องหั่นย่อยที่นำเข้าจากต่างประเทศไปใช้งาน จากข้อมูลข้างต้นและจากข้อมูลที่ได้สำรวจ พบว่า ประชาชนทั่วไปมีความต้องการใช้เครื่องหั่นย่อยเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ติดปัญหาที่เครื่องมีราคาค่อนข้างแพง และไม่มั่นใจในการซ่อมบำรุง ดังนั้น ถ้ามีการออกแบบเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กให้มีราคาถูก ซ่อมบำรุงรักษาง่าย และมีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ในการเก็บน้อย ก็จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีความสนใจที่จะหันมาหั่นย่อยกิ่งไม้และใบไม้เพื่อใช้ทำปุ๋ยหมักหรือเป็นวัสดุคลุมดินแทนการเผาทำลาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ และลดการขาดดุลเงินตราจากการนำเข้าเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กจากต่างประเทศ รองศาสตราจารย์บัณฑิต กล่าวอีกว่าดังนั้น จึงได้ออกแบบและสร้างเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กขึ้น จากการสนับสนุนโครงการวิจัยโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ การทดสอบใช้กิ่งมะม่วง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 1.5 นิ้ว โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1.5 แรงม้า เท่านั้น และใบไม้แห้งเป็นวัสดุในการทดสอบ พบว่า สามารถหั่นย่อยกิ่งมะม่วงได้ 252 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง และย่อยใบไม้แห้งได้ 48 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง หรือ 1.58 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง (ประมาณ 20 เข่ง ต่อชั่วโมง) เมื่อย่อยใบไม้แห้งแล้วปริมาตรจะลดลง 60-70 เปอร์เซ็นต์ (จากใบไม้แห้งก่อนย่อย 20 เข่ง จะเหลือเพียง 6-7 เข่ง) โดยเครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กนี้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มีความทนทาน และซ่อมบำรุงรักษาง่าย นอกจากนี้ เครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2552 ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ภายหลังจากการทำวิจัยแล้วเสร็จ ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตร และได้ผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจนำไปใช้งาน โดยมีผู้ซื้อไปใช้งานแล้วจำนวนหลายราย นอกจากจะได้เครื่องหั่นย่อยขนาดเล็กแล้ว ยังได้ศึกษากระบวนการทำปุ๋ยหมักอย่างง่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ซื้อเครื่องไปใช้งาน สามารถนำวัสดุที่ย่อยแล้วไปทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในบ้านหรือในหน่วยงานได้ โดยกระบวนการทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายนี้ ได้เผยแพร่ไปแล้ว ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากกระบวนการทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายนี้ ไม่ซับซ้อน ทำง่าย ไม่ต้องดูแลมากนัก ใช้ระยะเวลาในการหมักน้อย โดยการทำปุ๋ยหมักมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้งหรือสด และการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร สำหรับรายละเอียดวิธีการทำปุ๋ยหมักเข้าถึงได้ใน www.machinery.mju.ac.th หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ รองศาสตราจารย์บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290 โทร. (053) 878-123 หรือ (081) 595-4432 หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ โทร. (053) 226-264 ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยสามารถนำกิ่งไม้และใบไม้มาย่อย แล้วนำไปทำปุ๋ยหมักหรือเป็นวัสดุคลุมดินแทนการเผาทำลาย

ที่มา :

รองศาสตราจารย์บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร
2012-03-22

ปรับปรุงข้อมูล : 8/1/2555 10:10:42     ที่มา : คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 8214

กลุ่มข่าวสาร : บทความน่าสนใจ

ข่าวล่าสุด

ประกาศรับสมัครทุนการศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ประจำปี 2567 จำนวน 41 ทุน ๆ ละ 6,000 บาท
ประกาศรับสมัครทุนการศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ประจำปี 2567 จำนวน 41 ทุน ๆ ละ 6,000 บาทคุณสมบัติ1. เป็นนักศึกษาของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ชั้นปีที่ 2-42. ไม่ถูกพักการศึกษา ไม่ถูกลงทางวินัย และไม่ได้รับทุนการศึกษาอื่นใด ยกเว้น กยศ.3. มีผลการเรียนเฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 2.00การรับสมัครเปิดรับสมัครตั้งแต่วันประกาศถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยผู้สมัครสแกน QR Code กรอกรายละเอียดและอัพโหลดเอกสารแนบ (บัตรนักศึกษาและสำเนาผลการเรียน) สอบถามเพิ่มเติมงานกิจการนักศึกษา สำนักงานคณบดี ชั้น 1 อาคารเรียนรวมสาขาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
20 กรกฎาคม 2567     |      13
ครงการนักวิจัยพบแหล่งทุนภายนอก โดยครั้งนี้ จัดในหัวข้อเรื่อง "การขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA"
งานบริการวิชาการและวิจัย คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรขอเชิญชวนบุคลากรทุกท่าน เข้าร่วมโครงการนักวิจัยพบแหล่งทุนภายนอกโดยครั้งนี้ จัดในหัวข้อเรื่อง "การขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA"วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00-12.00 น.ผ่านระบบ microsoft Teamกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ปฏิรูปผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและอาหารhttps://www.ftaoae.com/index
20 กรกฎาคม 2567     |      10