คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
FACULTY OF ENGINEERING AND AGRO-INDUSTRY, MAEJO UNIVERSITY

อุทกภัยจากพายุหมุนเขตร้อนไหหม่าและนกเตน

 

 ปี พ.ศ. 2554 อาจจัดเป็นปีแห่งอุทกภัยของประเทศไทย ได้เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา จากกรณีของอุทกภัย อันเนื่องจากฝนตกหนักช่วงท้ายฤดูฝนในภาคใต้ ที่ต่อเนื่อง กันมาจากปลายปี 2553 จนถึงต้นปีนี้ ตามมาด้วยอุทกภัยกลางฤดูแล้งของภาคใต้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดอุทกภัยจากพายุหมุนเขตร้อนอีก 2 ครั้ง 2 ครา คือ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (ลุ่มน้ำยมและ ลุ่มน้ำน่าน) จากอิทธิพลของพายุไหหม่า และในพื้นที่ทุกลุ่มน้ำของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จากอิทธิพลของพายุนกเตน 

 พายุโซนร้อนไหหม่า นับเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกแรก ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสภาพอากาศของประเทศไทยในปีนี้ ไหหม่า (Haima) เป็นชื่อที่ตั้งโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความหมายว่า ม้าน้ำ พายุลูกนี้มีความเร็วลมสูงสุด อยู่ในระดับพายุโซนร้อน (ไม่ถึงระดับไต้ฝุ่น) ชื่อของ ไหหม่าจึงถูกนำด้วยคำว่า พายุโซนร้อน พายุโซนร้อนไหหม่า เคลื่อนที่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ผ่านทะเลจีนใต้ตอนบนเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย จากนั้นขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงค่ำวันที่ 24 มิถุนายน 2554 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวผ่านประเทศลาวตอนบน ก่อนจะสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554 

 ส่วนพายุไต้ฝุ่นนกเตน นับเป็นพายุหมุนเขตร้อน ลูกแรกที่เข้าถึงประเทศไทยได้ในปีนี้ นกเตน(Nock-ten) เป็นชื่อที่ตั้งโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็น ชื่อของนกชนิดหนึ่ง พายุนี้มีความเร็วลมสูงสุดอยู่ในระดับพายุไต้ฝุ่น ชื่อของนกเตนจึงถูกนำด้วยคำว่า พายุไต้ฝุ่น แต่พายุไต้ฝุ่นนกเตนเข้าถึงประเทศไทยที่ภาคเหนือ (จ.น่าน) ในระดับของพายุดีเปรสชั่นเท่านั้น 

 พายุไต้ฝุ่นนกเตน เคลื่อนที่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ผ่านทะเลจีนใต้ตอนกลาง แต่อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ก่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น 

 ขณะเคลื่อนที่ผ่านประเทศลาว เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.น่าน และ สลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือ ตอนบนช่วงวันที่ 1-3 สิงหาคม 2554 ตามลำดับ 

 อิทธิพลของพายุโซนร้อนไหหม่าทำให้เกิดฝนตกหนัก เป็นบริเวณกว้างในเขตพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และตาก โดยปริมาณฝนสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมง วัดได้ที่ อ.ปัว จ.น่าน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 สูงถึง 335.2 มิลลิเมตร เป็นเหตุให้เกิด น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำน่านและ ลุ่มน้ำยม แต่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านถูกจำกัดอยู่เฉพาะ ภายในเขต จ.น่านเท่านั้น เพราะปริมาณน้ำราว 6 พันล้าน ลูกบาศก์เมตร ถูกรองรับไว้โดยอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ เช่นเดียวกับกรณีที่จ.เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นนกเตนทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ในหลายอำเภอ โดยเฉพาะที่ อ.ดอยสะเก็ด สันกำแพง สันทราย แม่ริม และแม่แตง แต่อุทกภัยก็ถูกจำกัดอยู่แต่ภายในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูนเท่านั้น เพราะ น้ำทั้งหมดถูกรองรับไว้ด้วยอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล โดยพื้นที่ท้ายน้ำทั้งที่ จ.ตาก และกำแพงเพชรไม่ได้รับ ผลกระทบจากน้ำจำนวนมหาศาลแต่อย่างใด ขณะที่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมซึ่งเกิดจากพายุทั้ง 2 ครั้ง 2 คราไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในพื้นที่ จ.แพร่ เท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปทั่ว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ท้ายน้ำได้แก่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งถูกน้ำท่วมแล้วท่วมอีก ทั้งนี้เพราะลุ่มน้ำยมไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่จะรองรับน้ำจำนวนมหาศาล ไว้ได้เหมือนเช่น ที่มีในลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำน่าน แม้กรมชลประทานจะสามารถใช้วิธีผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยมไปแม่น้ำน่านผ่านทางคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำ ทั้งสองได้บ้างสำหรับเหตุการณ์แรก แต่สำหรับเหตุการณ์หลังที่มีฝนตกท้ายเขื่อนสิริกิติ์มากด้วย ทำให้แม่น้ำน่านก็มีปริมาณน้ำมากเช่นกัน วิธีดังกล่าวก็ช่วยอะไรไม่ได้ นี่คือเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ลุ่มน้ำยมขาดเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ถึงตรงนี้คงไม่จำเป็นต้องย้ำอีกว่า เครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่ว่านั้นคืออะไร 

 สำหรับอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นนกเตนนั้น มีผลกระทบ ต่อสภาพอากาศของประเทศไทยมากกว่าพายุโซนร้อน ไหหม่ามาก ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะคำนำหน้าชื่อพายุที่มีระดับความรุนแรงต่างกัน แต่เป็นเพราะพายุนกเตนเข้าถึงประเทศไทยโดยตรงขณะที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางยังอยู่ในระดับของพายุดีเปรสชั่น แต่พายุไหหม่าสลายตัวกลายเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเข้าถึงประเทศไทย อิทธิพลที่มีต่อสภาพอากาศ จึงน้อยกว่ากันเป็นอันมาก อิทธิพลของพายุนกเตนทำให้เกิดฝนตกหนักเกือบ ทั่วประเทศ เป็นเหตุทำให้เกิดอุทกภัยทั่วไปใน 16 จังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แต่ก็นับว่ายังโชคดีที่พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า (Muifa) ซึ่งเป็นชื่อมาจาก มาเก๊า แปลว่า ดอกพลัมบาน ไม่เข้ามาซ้ำเติมอีกระลอกหนึ่ง หากไม่เช่นนั้น ประเทศไทยคงไม่รอดพ้นจากอุทกภัยทั่วทั้งประเทศเป็นแน่ พื้นที่ลุ่มภาคกลางและกรุงเทพมหานครก็คงมีสิทธิ์เดือดร้อนจากอุทกภัยนี้ด้วยเช่นกัน 

 สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ เชื่อว่ายังคงไม่สิ้นสุดเพียง แค่นี้ เพราะขณะนี้เพิ่งเข้าสู่กลางฤดูฝน โอกาสที่ฝนจะตกยังมีอีก 3 เดือน และที่สำคัญยังเป็นช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเข้ามาถึงประเทศไทยได้สูงที่สุดด้วย โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมซึ่งมีสถิติสูงสุดที่พายุหมุนเขตร้อนเข้าถึงประเทศไทยได้ (เฉลี่ยปีละลูก) ซึ่งนั่นหมายความว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่จะต้องเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอีกในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งพื้นที่เสี่ยงสูงที่สุดก็คือ พื้นที่ ลุ่มภาคกลางและกรุงเทพมหานครนั่นเอง 

 แต่ถ้าหากไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเฉียดเข้ามาใกล้ๆ ประเทศไทยอีกในปีนี้ ก็นับว่าโชคดีไป แต่ถ้าเกิดมีเฉียดเข้ามาติดๆ กันหรือเข้ามาถึงประเทศไทยได้สักลูก 2 ลูก สถานการณ์ของอุทกภัยจากพายุหมุน เขตร้อนไหหม่าและนกเตนคงจะถูกลืมเลือนไป นั่นหมายความว่า อุทกภัยครั้งใหญ่ที่หนักกว่ารุนแรง กว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมั่นใจว่า กรมชลประทานและกรมบรรเทาสาธารณภัยคงมีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เว้นเสียแต่จะมีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือ ความคาดหมายไปกว่านี้ปรากฏขึ้นมาซ้ำเติมอีก ดังนั้น แม้สถานการณ์ขณะนี้จะคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้น เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจประมาทได้ 

ผศ.สุพจน์ เอี้ยงกุญชร 
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้

รูปภาพประกอบ : thairath.co.th

ปรับปรุงข้อมูล : 8/1/2555 10:19:21     ที่มา : คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 10064

กลุ่มข่าวสาร : บทความน่าสนใจ

ข่าวล่าสุด

ประกาศรับสมัครทุนการศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ประจำปี 2567 จำนวน 41 ทุน ๆ ละ 6,000 บาท
ประกาศรับสมัครทุนการศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ประจำปี 2567 จำนวน 41 ทุน ๆ ละ 6,000 บาทคุณสมบัติ1. เป็นนักศึกษาของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ชั้นปีที่ 2-42. ไม่ถูกพักการศึกษา ไม่ถูกลงทางวินัย และไม่ได้รับทุนการศึกษาอื่นใด ยกเว้น กยศ.3. มีผลการเรียนเฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 2.00การรับสมัครเปิดรับสมัครตั้งแต่วันประกาศถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยผู้สมัครสแกน QR Code กรอกรายละเอียดและอัพโหลดเอกสารแนบ (บัตรนักศึกษาและสำเนาผลการเรียน) สอบถามเพิ่มเติมงานกิจการนักศึกษา สำนักงานคณบดี ชั้น 1 อาคารเรียนรวมสาขาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
20 กรกฎาคม 2567     |      13
ครงการนักวิจัยพบแหล่งทุนภายนอก โดยครั้งนี้ จัดในหัวข้อเรื่อง "การขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA"
งานบริการวิชาการและวิจัย คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรขอเชิญชวนบุคลากรทุกท่าน เข้าร่วมโครงการนักวิจัยพบแหล่งทุนภายนอกโดยครั้งนี้ จัดในหัวข้อเรื่อง "การขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA"วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00-12.00 น.ผ่านระบบ microsoft Teamกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ปฏิรูปผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและอาหารhttps://www.ftaoae.com/index
20 กรกฎาคม 2567     |      10