คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
FACULTY OF ENGINEERING AND AGRO-INDUSTRY, MAEJO UNIVERSITY

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดเทอมมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียนมาได้หนึ่งปีการศึกษา แล้วนั้น ทั้งอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่างออก มายืนยันถึงความไม่เหมาะสมกันอย่างกว้างขวางและในที่สุดที่ประชุมประธานสภา อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ปอมท.)จึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระ พิจารณาในคราวประชุม ปอมท.ครั้งที่ 5/2558 ที่จัดประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกการเปิด-ปิดมหาวิทยาลัยตามอาเซียน โดยให้ประธาน ปอมท.ทำหนังสือเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาทบทวนความ เหมาะสม ด้วยเหตุผลด้านผลเสียที่เกิดขึ้นหลายประการ ดังนี้

ประการแรก เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากในช่วงเทอมที่ 2 จะคาบเกี่ยวกับช่วงฤดูร้อนเต็มๆ (ทั้งเดือนมีนาคม เดือนเมษายน และการสอบปลายภาคช่วงต้นเดือนพฤษภาคม) โดยเฉพาะเดือนมีนาคมและเมษายนอันเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี สภาพอากาศร้อนย่อมมีผลทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ และเดือนเมษายนยังมีวันหยุดมาก (รวมไม่น้อยกว่า 5-8 วัน) ทั้งเทศกาลสงกรานต์ วันจักรี และวันเกณฑ์ทหาร ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากขาดความต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น กิจกรรมและการเรียนการสอนภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนแทบจะกระทำไม่ได้เลยในช่วงเทอมนี้

ประการที่2เป็น อุปสรรคต่อการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเนื่องจากเดือนเมษายนนั้นอาจถือได้ว่า เป็นเดือนแห่งประเพณีและวัฒนธรรมไทย เพราะเดือนนี้มีวันสำคัญด้านประเพณีและวัฒนธรรมมากที่สุดในรอบปี ทั้งวันปีใหม่ไทย วันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว รวมไปถึงวันเช็งเม้งของคนไทยเชื้อสายจีน การเรียนการสอนในช่วงนี้ทำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญดังกล่าวได้ไม่ว่าจะเป็นการใส่บาตรทำบุญการฟัง เทศน์ฟังธรรมการสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัด การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และการร่วมกิจกรรมอื่นๆ ในครอบครัว ที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีผลทำให้สมาชิกในครอบครัวหาเวลาอยู่ด้วยกันอย่าง พร้อมหน้าพร้อมตาแทบจะไม่มีแล้วในยุคปัจจุบัน

ประการที่3เป็น อุปสรรคต่อการหางานของบัณฑิตเนื่องจากนักศึกษาจะจบไม่ทันช่วงฤดูรับสมัครงาน โดยเฉพาะงานราชการที่มักเปิดรับสมัครในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งนัก ศึกษายังไม่จบการศึกษาเหมือนก่อนหน้านี้นอกจากนี้กำหนดการเกณฑ์ทหารในรอบปี ก็อยู่ในช่วงเทอมที่สองนี้หากนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายขอผ่อนผันต่อโดยไม่ไป เข้ารับการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร นักศึกษาก็จะมีปัญหาที่อาจไม่สามารถสมัครงานได้เมื่อจบการศึกษาตอนปลายเดือน พฤษภาคม เนื่องจากไม่มีใบรับรองการผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.9) แต่ถ้านักศึกษาเสี่ยงไปเข้ารับการคัดเลือกเกณฑ์ทหารในเทอมที่สองนี้ หากได้รับการคัดเลือกก็จะยิ่งมีปัญหามากขึ้นไปอีกเพราะยังเรียนไม่จบ นั่นคือจะต้องลาพักการศึกษาเป็นปี ปัญหาบัณฑิตตกงานจึงมีโอกาสสูงขึ้นมากด้วยสาเหตุเหล่านี้


ประการที่ 4 เป็นอุปสรรคต่อเอกภาพทางการศึกษาของชาติ ทำให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้เปลี่ยนการเรียนการสอนในระดับประถมและมัธยมตามอาเซียนอย่างมหาวิทยาลัย จึงเกิดความลักลั่นระหว่างมหาวิทยาลัยและมัธยม โดยเฉพาะการเรียนการสอนในคณะศึกษาศาสตร์ที่มีความยุ่งยากในการสาธิตและฝึกสอน เพราะช่วงเวลาไม่สอดคล้องกับการเรียนในขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะต้องเสียเวลาในการรอเรียนชั้นปีที่ 1 ในระดับมหาวิทยาลัยนานหลายเดือน ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดแล้ว ซ้ำยังเป็นความเสี่ยงต่อความหลงระเริงในการเที่ยวเตร่ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย 

ประการที่ 5 เป็นอุปสรรคต่อการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องปรับอากาศสำหรับห้องเรียน และการที่นักศึกษายังคงต้องอยู่รวมกันมากๆ ในเมืองอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้น ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ควรจะต้องพยามยามลดการใช้ไฟฟ้าลง เพราะการผลิตไฟฟ้าอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากปกติช่วงฤดูนี้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในรอบปีอยู่แล้ว และควรต้องลดการใช้น้ำประปาลงด้วย เพราะเป็นช่วงฤดูแล้งที่มักขาดแคลนน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาเช่นเดียวกันด้วย 

ประการที่ 6 เกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของอาจารย์และนักศึกษา รวมไปถึงผู้ปกครอง เนื่องจากต้องฝืนทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการเรียนการสอนในสภาวะที่ไม่เหมาะสมกับธรรมชาติ ทั้งการเจ็บไข้จากสภาพอากาศร้อนจัดและการสะสมความเครียดในภาวะต่างๆ เช่น การตากแดด การเดินทาง การปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติและกิจกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับประถมหรือมัธยมศึกษา เป็นต้น 

ประการที่ 7 เกิดปัญหาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์ไทยกับต่างประเทศ เนื่องจากต่างมีภาระการสอนตรงกัน (เปิดและปิดเทอมตรงกันหมด) การที่อาจารย์ไทยจะไปดูการเรียนการสอนเพื่อหาประสบการณ์ตรงในต่างประเทศย่อมทำได้ยาก เพราะจะมีผลกระทบกับการเรียนการสอนในความรับผิดชอบของตนเอง แม้กรณีนี้จะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่ความสำคัญนั้นอยู่ตรงที่เป็นความเห็นต่างที่ตรงกันข้ามกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาปลีกย่อยของแต่ละหลักสูตรในแต่ละคณะของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกมากมาย ที่มีปัญหาเฉพาะตนด้วยมีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งด้านภูมิประเทศ ด้านภูมิอากาศ และด้านสังคม ที่อาจนำมากล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนมติของ ปอมท.ได้ แต่อย่างไรก็ดี ลำพังเหตุผลข้อที่ 1-3 ซึ่งเป็นผลเสียต่อภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจนนั้น ก็น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการ สกอ.เห็นชอบกับมติของ ปอมท.ได้แล้ว 

ถึงตรงนี้ จึงขอได้โปรดคืนความสุขให้กับอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยไทยด้วยเถอะ

ที่มา: : ภาพและข้อความจาก มติชนออนไลน์ : http://www.matichon.co.th

ปรับปรุงข้อมูล : 6/8/2558 14:40:41     ที่มา : คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 775

กลุ่มข่าวสาร : บทความน่าสนใจ

ข่าวล่าสุด