ตั้งแต่เหล่าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีข้อตกลงร่วมกันจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวในรูป ของประชาคมอาเซียน โดยได้ประกาศจะรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในต้นปี ค.ศ.2015 ก่อนจะเลื่อนมาเป็นปลายปี 2015 นี้นั้น กระทรวงศึกษาธิการก็ได้เตรียมการเข้าร่วมด้วยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้กระตุ้นให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ และหนึ่งในการเตรียมตัวที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ การปรับเวลาปิดและเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยตามอาเซียน ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วในปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นี้ โดยอ้างข้อดีไว้ 4-5 ข้อ ดังนี้
1.เพื่อความเป็นเอกภาพของภูมิภาคอาเซียน
2.เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้สะดวกขึ้นเพราะมีเวลาเรียนและเวลาหยุดตรงกัน
3.การแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยในอาเซียนจะทำได้ง่ายขึ้นเพราะมีเวลาเรียนตรงกัน โดยเฉพาะการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน
4.ไม่เสียเวลาเมื่อนักเรียนนักศึกษาจากประเทศหนึ่งจะไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของอีกประเทศหนึ่ง
5.เกิดความเสมอภาค ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันในการจบการศึกษาและหางานทำ
6.เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนา
ทุก ข้อที่กล่าวมานี้ เป็นเหตุผลเท่าที่ผู้เขียนทราบจากทางฝ่ายผู้เสนอให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยน เวลาปิดและเปิดเทอมตามอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยมีการสอบถามความเห็นจากนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนใน มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แม้เคยมีผู้แสดงความเห็นคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร บัดนี้การปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิดเทอมตามอาเซียนได้ปฏิบัติมาจนครบรอบปีการ ศึกษาหนึ่งแล้ว ลองกลับมาพิจารณาดูว่า มันเป็นเรื่องการพัฒนาตามที่ผู้เสนออ้างจริงหรือไม่
เมื่อ ลองย้อนกลับมาพิจารณาข้ออ้างเหล่านี้ดูจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ข้อ 1-4 นั้น ที่จริงมันเป็นข้อเดียวกัน แต่ดูเหมือนฝ่ายเสนอจะพยายามทำให้ดูว่ามีหลายข้อ ส่วนข้อ 5 ก็ดูเหมือนผู้เสนอจะใช้หลักคิดแบบเดิมๆ ว่า ความเสมอภาคคือการที่ต้องมีปัจจัยเหมือนๆ กัน เท่าๆ กัน
และ ข้อ 6 ก็ดูเหมือนผู้เสนอจะทึกทักเอาเองว่า การปิดและเปิดเทอมตามอาเซียนนั้นเป็นการพัฒนา มิใช่แค่การปรับเปลี่ยนธรรมดาๆ ซึ่งทำให้ดูเหมือนไม่มีโอกาสเลยที่การปิดเปิดเทอมตามอาเซียนจะมีข้อเสียหรือ ทำให้เกิดความเสื่อมถอยตามมา
สํา หรับข้อแรกนั้นดูเข้าท่าตรงที่ว่า กลุ่มประเทศเดียวกันจะทำอะไร ก็ควรทำให้เหมือนๆ กัน และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จตั้งแต่มหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยยอมปิด-เปิดเทอมตามอาเซียนแล้ว จึงนับได้ว่ามหาวิทยาลัยของอาเซียนมีความเป็นเอกภาพกันทั้งภูมิภาคในระดับ หนึ่งแล้วในขณะนี้
ส่วนข้อ 2 ยังไม่อาจประเมินได้ว่าเมื่อปิดเทอมพร้อมกันแล้วนักศึกษาในอาเซียนมีการร่วม ทำกิจกรรมกันมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ทราบคงไม่ได้น้อยไม่ได้มากไปจากเดิม เพราะยังไม่เห็นโครงการหรือกิจกรรมอะไรเพิ่มขึ้นมาอย่างชัดเจน แม้แต่ตัวนักศึกษาเองก็ยังคงมุ่งแต่กิจกรรมของตน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอาเซียนเลย
ข้อ ที่ 3 ก็คงไม่ต่างจากข้อ 2 เพราะเปอร์เซ็นต์ของการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยเมื่อ เปรียบเทียบกับนักศึกษาส่วนใหญ่ (ไม่น่าถึงร้อยละหนึ่ง) และนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจการแลกเปลี่ยนในกลุ่มอาเซียนเท่า กับการไปทำงานและท่องเที่ยว (Work and Travel) ในกลุ่มประเทศทางยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย
ข้อ ที่ 4 เนื่องจากการปิด-เปิดเทอมของอาเซียนสอดรับกับการปิด-เปิดเทอมของมหาวิทยาลัย ในยุโรปและอเมริกาก็จริง ซึ่งทำให้คนที่จะไปเรียนต่อไม่ต้องเสียเวลาว่างไปครึ่งปีค่อนปี แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของคนส่วนน้อยอีกเช่นกัน และคนที่จะไปเรียนต่อก็คงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาว่างนี้มากนัก
ข้อ ที่ 5 เรื่องความเสมอภาคในการจบการศึกษาและการหางานทำนั้น ดูเหมือนผู้เสนอจะใช้กรอบความคิดเก่าๆ ที่ว่า เมื่อนักศึกษาเรียนจบก็ต้องไปสมัครงานตามฤดูกาลที่เคยมีมา (เหมือนระบบราชการ) ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ได้มุ่งรับราชการหรือเป็นลูกจ้าง (มนุษย์เงินเดือน) แต่มุ่งเป็นเจ้าของกิจการหรือทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น
ดังนั้น ช่วงเวลาที่จบการศึกษาและการสมัครงานจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญแต่อย่างใด
ข้อ สุดท้าย การพัฒนาที่คาดหวังจึงยังไม่เกิดขึ้นแม้จะมีการปรับเปลี่ยนเวลาปิด-เปิดเทอม แล้วก็ตาม แต่ผลกระทบในทางลบที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้
ประการแรก บรรยากาศการเรียนการสอนไม่เอื้ออำนวยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเดือนมีนาคม และเมษายน แม้ห้องเรียนจะใช้เครื่องปรับอากาศให้เย็นฉ่ำ แต่สภาพอากาศนอกห้องเรียนก็ไม่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้เพิ่ม เติม แต่น่าจะเป็นอุปสรรคมากกว่า นอกจากนี้วิชาที่ต้องมีการเรียนการสอนนอกห้องเรียนก็ยิ่งทรมานทรกรรมต่อทั้ง ผู้สอนและผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง
ประการที่สอง นับเป็นผลต่อเนื่องจากข้อแรกนั่นคือ ค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศจำนวนมหาศาล หลายมหาวิทยาลัยกำลังประสบวิกฤตค่าไฟฟ้าในเทอมที่สองนี้ และไม่ทราบว่าเป็นเพราะทุกมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนพร้อมกันในเดือน เมษายนนี้หรือไม่ ที่ทำให้ปีนี้ยอดการใช้ไฟสูงสุด (Peak) ของประเทศถูกทำลายสถิติลงไปหลายครั้ง
ประการที่สาม ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า เดือนเมษายนมีวันหยุดมาก ทั้งวันจักรีและวันสงกรานต์ ซึ่งต้องหยุดไปอย่างน้อยก็ 4-5 วัน การเรียนการสอนในเดือนนี้จึงไม่ปะติดปะต่อ เรียนๆ หยุดๆ ประสิทธิภาพการเรียนและการสอนนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นที่รู้ๆ กันทั้งผู้สอนและผู้เรียน เหมือนการเรียนภาคฤดูร้อน ซึ่งนักศึกษาปกติจะไม่ลงทะเบียนเรียนกันนั่นเอง
ประการที่สี่ ทำลายภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยโดยตรง เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นทั้งวัน
ปี ใหม่ไทย วันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว นักศึกษาและอาจารย์ไม่อาจไปร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมได้เหมือนอย่างเคย โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด
ประการที่ห้า สร้างความยากลำบากโดยไม่จำเป็น อาจารย์และนักศึกษาจำเป็นต้องแออัดอยู่ในเมือง (ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย) แทนที่จะได้กลับไปพักผ่อนสบายๆ ในต่างจังหวัดหรือบ้านเกิด ผู้ปกครองต้องมีภาระเพิ่มในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาที่ ต้องอยู่กับสภาพอากาศร้อนในเมือง
ประการสุดท้าย การเปิดและปิดเทอมตามอาเซียนเป็นเหมือนบทพิสูจน์ว่า ประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำทางการศึกษาในภูมิภาคนี้ หากเป็นผู้นำทางการศึกษาจริงคงต้องหาวิธีให้มหาวิทยาลัยของประเทศอื่นในอา เซียนหันมาปิด-เปิดเทอมตามประเทศไทย หรืออย่างน้อยก็ต้องยืนหยัดปิดเปิดเทอมตามแบบที่เหมาะสมของประเทศไทยเอง
การ ปรับเปลี่ยนเวลาปิดและเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยไทยในรอบปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า ข้อดีที่คาดหวังนั้นยังไม่เกิดและไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ข้อเสียนั้นได้เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน หรือใครจะลองทำการสำรวจหรือทำวิจัยดูก็ได้ ซึ่งยังคงไม่สายเกินไปที่ สกอ.และ ทปอ.จะกลับมาทบทวนเรื่องนี้ หากไม่คิดจะแก้ไขก็เหมือนยืนยันว่าข้อเสียประการสุดท้ายที่กล่าวไว้ข้างต้น เป็นความจริง และคงไม่แปลกที่อุดมศึกษาไทยจะรั้งท้ายอาเซียนตลอดไป
ที่มา : ภาพและข้อความจาก มติชนออนไลน์ : http://www.matichon.co.th