การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากแบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้1

 

 

       จากผลการค้นคว้าวิจัยของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนวัตกรรมใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง เกษตรกรจะสามารถผลิตได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีปริมาณมากครั้งละ 10 – 100 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน เรียกว่าวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” ที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่นและน้ำเสีย วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่างเท่านั้น โดยถ้าเศษพืชเป็นฟางข้าวอัตราส่วนระหว่างฟางข้าวกับมูลสัตว์คือ 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร และถ้าเป็นเศษใบไม้ให้ใช้อัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยปริมาตร

ในวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบกองแถวยาวไม่พลิกกลับกองของแม่โจ้ มีขั้นตอนวิธีทำดังนี้

1. นำฟาง 4 เข่ง "วางหนา 10 ซม." บนพื้นดิน ฐานกว้าง 2.5 ม. โรยทับด้วยขี้วัว 1 เข่ง (เพื่อให้เป็นสัดส่วน 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร - ถ้าเป็นใบไม้ใช้ 3 ต่อ 1) แล้วรดน้ำ ..... ถ้าต้องการปุ๋ยหมัก 1 ตันก็ทำซ้ำข้างต้นจนมีความยาวกองปุ๋ยให้ได้ 4 เมตร .... อันนี้เป็นชั้นที่ 1

2. ทำชั้นที่ 2 ซ้ำขั้นตอนข้างต้น แล้วรดน้ำ ... ทำชั้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ชั้นเศษพืชหนาเพียง 10 ซม. โดยให้กองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยม สูงรวม 1.5 ม. ปกติก็จะมีจำนวน 15 - 20 ชั้น ... การทำเป็นชั้นบาง ๆ ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ในมูลสัตว์สามารถออกมาย่อยสลายเศษพืชได้ทั่วถึง ที่สำคัญ ... ห้ามเหยียบ

3. ถ้าต้องการปุ๋ยหมัก 1 ตันก็ให้ต่อกองปุ๋ยจนยาว 4 ม. ... กองปุ๋ยยาว 4 เมตรจะใช้ขี้วัว 30 กระสอบ หรือ 360 กก. ถ้าขี้วัวกระสอบละ 25 บาทก็จะเป็นต้นทุนในการทำปุ๋ย 30 x 25 = 750 บาทต่อตัน .... แต่ถ้าไม่ทำเองแล้วไปซื้อของคนอื่นอาจต้องจ่ายถึง 5,000 - 7,000 บาทต่อตันเชียวครับ

4. ภายในเวลา 2 เดือนให้ดูแลน้ำอย่างปราณีต ได้แก่ รดน้ำวันละครั้ง ในปริมาณที่ไม่ทำให้น้ำไหลนองออกมามากเกินไป ...... แล้วทุก 10 วันก็ให้เอาไม้เจาะกองปุ๋ยถึงพื้นดิน ระยะห่างรู 40 ซม.รอบกอง กรอกน้ำลงไปในปริมาณที่ทำให้ภายในกองปุ๋ยชื้นพอดี ๆ ไม่มีน้ำไหลนองออกมามาก เสร็จแล้วปิดรู ..... สรุป : รดน้ำวันละครั้ง แล้วทุก 10 วันเจาะกองปุ๋ยเติมน้ำ ปิดรู (เจาะรวม 5 ครั้ง)

5. พอครบสองเดือน กองปุ๋ยก็จะยุบเหลือแค่ 1 เมตร กระบวนการก็จะยุติโดยไม่ต้องพลิกกองเลย แล้วทิ้งให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยสงบตัว ไม่เป็นอันตรายต่อพืช แห้งแล้วค่อยเอาไปใช้หรือเก็บใส่กระสอบ เก็บในร่มได้นาน 3-4 ปี

 

 

การเจาะกองปุ๋ยเพื่อให้น้ำแก่ภายในกองปุ๋ยเป็นสิ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ละเลย ส่งผลให้เศษพืชไม่ถูกย่อยสลายเพราะแห้งเกินไป แถมคิดว่าการรดน้ำประจำวันจะทำให้มีน้ำไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ซึ่งเป็น ความเข้าใจที่ผิดครับ วัสดุเช่นนี้จะชอบยึดน้ำไว้ที่ตัวมันเองและจะไม่ยอมให้น้ำไหลซึมลงด้านล่าง ตามแรงโน้มถ่วง (คล้ายกับกองฟางที่ตากฝนในนา ซึ่งภายในจะแห้งสนิท จะไม่เคยเป็นปุ๋ยเลยไม่ว่าจะทิ้งไว้กี่ปี) ทางวิชาการเรียกว่ามีคุณสมบัติของ Field Capacity ครับ สามารถไปสืบค้นเพิ่มเติมจากกูเกิ้ลได้

การดูแลน้ำอย่างปราณีตแลกกับการต้องพลิกกลับกอง ผมคิดว่าคุ้มครับผม

จะทำยาว 4 ม.หรือ 400 ม. ก็เสร็จในสองเดือนเหมือนกัน เอาไปทำปุ๋ยขายก็ได้ เป็นโรงปุ๋ยที่ไม่ต้องมีพื้นหรือหลังคา

ข้อห้ามของการทำปุ๋ยวิธีนี้คือห้ามขึ้นเหยียบ ห้ามเอาผ้าคลุม เพราะจะทำให้อากาศไหลเวียนเข้าไปในกองปุ๋ยไม่ได้ ... ห้ามทำชั้นเศษพืชหนาเกินไปเพราะจุลินทรีย์จะเข้าไปย่อยสลายไม่ได้

กองปุ๋ยวิธีนี้จะมีความร้อนจัดใน 5 วันแรก ชนิดที่ว่ามีไอร้อนลอยอ้อยอิ่งออกมาเลยเชียว ไอร้อนนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่ามีอากาศร้อนลอยออกจากกองปุ๋ย ซึ่งส่งผลให้อากาศเย็นกว่าที่อยู่ด้านนอกไหลเวียนเข้าไปแทนที่ จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจึงได้รับออกซิเจนไว้ใช้ในกิจกรรมการย่อยสลายโดยที่เรา ไม่ต้องพลิกกลับกองเลย

การทำปุ๋ยวิธีนี้ใครมีสารเร่ง พด.1 จะใช้ร่วมก็ได้ ไม่ผิดกติกาครับ

 

หัวหน้าทีมวิจัย

    ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร

 

สมาชิกทีมวิจัย        

    ผศ.ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร

    อ.รชฎ  เชื้อวิโรจน์

    อ.แสนวสันต์ ยอดคำ

 

คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

โทร 086 917 4846  

E-mail: teerapongs@mju.ac.th

วิธีวิศวกรรมแม่โจ้1

เอกสารประกอบ


ปรับปรุงข้อมูล 13/9/2560 15:30:09
, จำนวนการเข้าดู 43101